แหล่งท่องเที่ยว
คลองสทิงหม้อลำน้ำที่ควรจารึก
 template : emplate.news.view.php

 คลองสทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นลำน้ำที่ผ่ากลางตามแนวยาวของคาบสมุทรสทิงพระ ปลายคลองเริ่มจากบ้านป่าขวาง ตำบลรำแดง ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาที่ปากคลองบ้านสทิงหม้อ ความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ผ่าน 5 ตำบล คือ ตำบลสทิงหม้อ ทำนบ รำแดง ม่วงงาม และวัดขนุน แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบรรพบุรุษได้ขุดขึ้นหรือเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่คลองสทิงหม้อ (จะทิ้งหม้อ) ก็เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของพื้นที่สิงหนครมาแล้วไม่น้อยกว่า100 ปี

คลองสทิงหม้อ ดำรงอยู่ในลักษณะคลองธรรมชาติ มีพรรณไม้สองฝั่งคลอง แน่นทึบไปด้วยลำพู โกงกาง คูระ สะแก ตาตุ้ม เม่า โพทะเล ชายโขะ หมัน พลอง เนียน มะสัง แสงขรรค์ (เล็บเหยี่ยว) ปรง และลำเท็ง ริมตลิ่งมีรากลำพูและโกงกางกั้นเป็นพนัง ปกคลุมด้วยไม้เลื้อย โดยเฉพาะหนามหมอ (เหงือกปลาหมอ) เมลาะ เขาคัน ปด ฯลฯ พืชพรรณเหล่านี้หลายชนิดสามารถปรุงเป็นอาหารและใช้สอยได้นานาประการ

สมัยก่อน น้ำในคลองสทิงหม้อ เป็นน้ำที่ไหลเข้ามาจากทะเลสาบสงขลาจึงเป็นน้ำเค็มตลอดประมาณ 10 เดือน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะฝนชุกจะเป็นน้ำจืด การผสมผสานจานเจือของน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ชุกชุม ริมฝั่งคลองจึงมีซุ้มยกยอตั้งเป็นระยะๆ นอกเหนือไปจากการจมไซ ลงเบ็ดราว ทอดแห และลงล่องช้อน หรือการจับด้วยมือเปล่า

 

คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของพื้นที่สิงหนคร เมื่อ 45 ปีที่แล้วพื้นที่แห่งนี้ไม่มีถนนสักสาย ประชาชนสัญจรโดยการเดินไปตามคันนา หรือไปทางเรือ เริ่มจากเรือพาย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2488) เริ่มมีเรือใช้เครื่องยนต์เข้ามาวิ่งในคลองสทิงหม้อ ทำให้ผู้คนในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ตั้งแต่เขตตำบลวัดจันทร์ ม่วงงาม บางเขียด ชะแล้ ปากรอ วัดขนุน ชิงโค ต่างหลั่งไหลมาใช้คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางไปยังเมืองสงขลา

หลัง พ.ศ.2504 ทางราชการเริ่มถมเส้นทางสายโบราณจากหัวเขาแดงขึ้นไปมีจุดหมายแรกที่อำเภอระโนด รถยนต์หมู่บ้านที่เงียบหายไปนาน เริ่มกลับมาอีกครั้ง การคมนาคมทางน้ำของคลองสทิงหม้อเริ่มมีคู่แข่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเริ่มมีโครงการที่ชัดเจนขึ้น และตัดถนนอย่างจริงจัง และมีแพขนานยนต์ให้รถข้ามฟากไปยังเมืองสงขลาได้ ทำให้รถยนต์โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนจึงนิยมใช้บริการรถโดยสารแม้จะต้องนั่งคลุกฝุ่นเขราะขระไปก็ตาม เพราะความสะดวกและรวดเร็วกว่าหลายเท่า ทำให้เรือยนต์ในคลองสทิงหม้อค่อยๆ หายไป คลองสทิงหม้อจึงเงียบสนิท ถูกทิ้งให้รกร้างอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ทางราชการจึงเริ่มโครงการแปรประโยชน์จากคลองที่ใช้คมนาคมมาเป็นคลองเพื่อการเกษตรกรรม โดยผันให้เป็นคลองน้ำจืด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำนาและอุปโภค ในช่วงฤดูแล้ง

เมื่อเปลี่ยนประโยชน์ของสทิงหม้อมาเป็นคลองเพื่อการเกษตรกรรม ก็น่าจะเป็นนิมิตใหม่ที่ราษฏรมีโอกาสขยายผลิตผลการเกษตรได้มากขึ้น ความเป็นอยู่ก็คงจะดีขึ้นตาม ถ้าวางระบบป้องกันและกำจัดวัชพืช ระบบป้องกันมลพิษที่จะทำให้น้ำเสีย ระบบความสะดวกที่ราษฎรจะสูบน้ำไปใช้ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ปล่อยพันธุ์ปลาพันธุ์สัตว์น้ำให้เต็มคลอง วางระเบียบการจับสัตว์น้ำให้เป็นการรักษาธรรมชาติและบริโภคตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

 นายอุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา กล่าวว่า โชคดีที่ทางการทำฝายกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าคลองสทิงหม้อเสียก่อน เนื่องจากช่วงนั้นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำกำลังเฟื่องฟู  หากทำฝายไม่ทัน ป่านนี้พื้นที่สองฝั่งคลองสทิงหม้อตั้งแต่หัวขี้เหล็กถึงป่าขวางคงเต็มไปด้วยนากุ้ง อาชีพ วัฒนธรรม สภาพสังคมของชาวลำคลองจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญที่ดินบริเวณดังกล่าวจะถูกนายทุนกว้านซื้อ คนบ้านเราอาจจะไม่มีแผ่นดินอยู่ดังที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วในบางพื้นที่